E-Learning วิชา การเขียนโปรแกรม – ม.4 | ครูวิเนต วงษ์แหวน

6. ข้อมูลและตัวแปร

ประเภทข้อมูล (Data Type)

ประเภทข้อมูล หรือ Data Type คือลักษณะการจัดเก็บข้อมูลที่จะสามารถเก็บข้อมูลและใช้งานตามลักษณะที่ได้ระบุไว้

โดยใน Python นั้นมีประเภทข้อมูลให้เราเลือกเก็บมากมาย แต่ก็จะมีเพียง 4 ประเภทที่เราจะได้ใช้งานกันบ่อย ๆ ในรายวิชานี้ ได้แก่

ประเภทข้อมูลประเภทข้อมูลที่จัดเก็บตัวอย่างข้อมูลที่จัดเก็บได้
String (สตริง)ตัวอักษร“kumamon” “1112”
Boolean (บูลีน)ค่าจริงหรือเท็จTrue False
Integer (อินทีเจอร์)จำนวนเต็ม2000 0 -1
Float (โฟลต)ค่าที่มีจุดทศนิยม1.00 1.112 -0.999

*ข้อมูลประเภท String ที่ใช้จัดเก็บตัวอักษรนั้น จะถูกกำกับไว้ด้วยเครื่องหมาย ” ” (Double Quote อ่านว่า ดับเบิล โควท)

ตัวแปร (Variable)

(ในความหมายของการเขียนโปรแกรม) คือ การกำหนดชนิดและค่าของข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในโปรแกรม

การสร้างตัวแปร

การเขียนโปรแกรมในภาษาระดับสูงหลายภาษา เช่น ภาษา c นั้น ก่อนที่จะมีการนำตัวแปรมาใช้ในโปรแกรม ผู้ใช้จะต้องทำการประกาศตัวแปร (Variable Declaration) ด้วยการกำหนดประเภทข้อมูล และตั้งชื่อตัวแปรให้เรียบร้อยก่อน

//ในภาษาซีต้องประกาศตัวแปร ด้วยการกำหนดประเภทข้อมูลก่อนใช้
#include <stdio.h>

int x = 5; //บรรทัดนี้เรียกว่าการประกาศตัวแปร โดยกำหนดให้ตัวแปร x เป็นตัวแปรที่ใช้เก็บข้อมูลประเภท integer และกำหนดค่าให้เท่ากับ 5

int main() 
{
    printf("%d",x);
    return 0;
}

แต่ภาษา Python ได้มีการปรับลดความซับซ้อนในการสร้างตัวแปรลง โดยอนุญาตให้สร้างและกำหนดค่าตัวแปรได้ทันที ไม่จำเป็นต้องประกาศตัวแปร ไม่บังคับให้กำหนดชนิดข้อมูลตอนที่สร้างตัวแปร เพราะ Python จะทำการเลือกประเภทข้อมูลให้โดยอัตโนมัติหากผู้ใช้งานไม่ได้ทำการระบุ

#ภาษาไพทอน นำตัวแปรมาเก็บข้อมูลได้เลย ไม่ต้องกำหนดประเภทข้อมูลให้ตัวแปร

x = 5 #ตัวแปรชื่อ x กำหนดค่าเป็น 5 โดยไพทอนจะเลือกประเภทข้อมูลเป็น Integet ให้เอง

*สรุปคือ ภาษาไพทอน ไม่มีขั้นตอนการสร้างหรือประกาศตัวแปรแต่อย่างใด สามารถนำไปใช้เก็บข้อมูลได้เลย

การเก็บข้อมูลไปที่ตัวแปร

ในเมื่อภาษาไพทอนนั้นสามารถนำตัวแปรมาใช้เก็บข้อมูลได้เลย ผู้ใช้สามารถกำหนดค่าข้อมูลให้กับตัวแปรได้ ตามรูปแบบต่อไปนี้

name = "Winate Wongwan"
age = 18
height = 183.5
handsome = True

*ตัวแปร nameageheighthandsome จะมีการเก็บข้อมูลเป็นประเภท String, Integer, Float และ Boolean ตามลำดับ

นอกจากการกำหนดค่าให้ตัวแปรด้วยข้อมูลแล้ว ยังสามารถนำเอาค่าของตัวแปรหนึ่ง ไปใส่ในอีกตัวแปรได้ เช่น

a = 20 #ตัวแปร a มีค่าเท่ากับ 20
b = a #นำค่าในตัวแปร a ไปใส่ในตัวแปร b

print(b)

ผลลัพท์ที่ได้
20

กฏการตั้งชื่อตัวแปรในภาษาไพทอน

  • ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ แล้วตามด้วยตัวอักษรหรือตัวเลขใดๆก็ได้
  • ห้ามเว้นช่องว่าง และห้ามใช้สัญลักษณ์พิเศษนอกเหนือจาก underscore “_” เท่านั้น
  • ตัวอักษรของชื่อจะคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างอักษรตัวพิมพ์ใหญ่กับตัวพิมพ์เล็ก
  • การตั้งชื่อมีข้อพึงระวังว่า จะต้องไม่้ซ้ำกับคำสงวน (Reserved word, Keyword)
  • ควรจะตั้งชื่อโดยให้ชื่อนั้นมีสื่อความหมายให้เข้ากับข้อมูล สามารถอ่านและเข้าใจได้
  • ห้ามใช้เครื่องหมายต่อไปนี้ในการตั้งชื่อตัวแปร !,@, #, $, %, ^, &, *, (, ), -, =, \, |, +, ~
  • ตัวแปรที่มีพิมพ์ใหญ่และตัวพิมพ์เล็กผสมกันจะมีความหมายต่างกัน กับตัวพิมพ์เล็กเพียงอย่างเดียว

คำสงวนในภาษาไพทอน

การทดลองประจำบทเรียนที่ 6

1.ให้นักเรียนทดลองสร้างตัวแปร 4 ตัว และเก็บค่าของข้อมูลประเภท String, Integer, Float และ Boolean ไปที่ ตัวแปรทั้ง 4 ตัวที่นักเรียนสร้างขึ้น

2. ให้นักเรียนทดลองตั้งชื่อตัวแปร แบบทมีผิดกฏการตั้งชื่อ และดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

– – – จบบทเรียนที่ 6 – – –


แบบฝึกหัดที่ประจำบทเรียน 6