E-Learning วิชา การเขียนโปรแกรม – ม.4 | ครูวิเนต วงษ์แหวน

9. การใช้คำสั่ง input() เพื่อรับข้อมูลเข้า

คำสั่ง input()

Input หมายถึง สิ่งที่ได้รับเข้ามา ซึ่งในการเขียนโปรแกรม Input จะหมายถึงการที่โปรแกรมนั้นจะรับค่าอะไรมาซักอย่าง เพื่อที่จะให้นำไปใช้ในขณะที่โปรแกรมกำลังทำงาน
โดยในภาษา Python นั้นจะใช้คำสั่ง input() เพื่อทำการรับ input เข้ามาสู่ระบบ

ตัวอย่างการใช้งานคำสั่ง input()

input()

เพียงเรียกใช้คำสั่ง input() เมื่อ Run โปรแกรมผ่านคอมไพเลอร์ โปรแกรมก็จะอนุญาตให้ผู้ใช้งานป้อนข้อมูลเข้ามาสู่โปรแกรมได้

*การป้อนค่าในคอมไพเลอร์ ทำได้โดยการพิมพ์ลงไปในส่วนที่แสดงผลโปรแกรม และยืนยันข้อมูลด้วยปุ่ม Enter

แต่เดี๋ยวก่อน!!

การใช้คำสั่ง input() ดังตัวอย่างนั้น ไม่สามารถนำไปใช้งานจริงได้ เพราะข้อมูลที่รับเข้ามายังไม่มีที่สำหรับจัดเก็บ

จึงต้องมีสร้างตัวแปรขึ้นมา เพื่อใช้จัดเก็บข้อมูลที่รับเข้ามาผ่านคำสั่ง input

x = input()

ตามโค้ดตัวอย่างด้านบนนั้น ข้อมูลที่ได้รับผ่านคำสั่ง input() จะถูกนำไปจัดเก็บที่ตัวแปร x

คำสั่ง input() ในการใช้งานจริง

เมื่อเขียนโปรแกรม ที่ต้องรับข้อมูลเข้าจากคนที่ใช้โปรแกรม ผู้เขียนโปรแกรม จะต้อง สื่อสาร กับ ผู้ใช้งานโปรแกรมด้วย ว่าต้องการให้ผู้ใช้งาน ป้อนข้อมูลอะไรเข้ามา

ซึ่งคำสั่ง input() สามารถใช้เขียนข้อความเพื่อสื่อสารได้เลย ด้วยการเขียนข้อความในช่อง () ของคำสั่ง input()

สถานการณ์ตัวอย่าง

โจอี้ ต้องการสร้างโปรแกรมสำหรับ นำชื่อและนามสกุลของผู้ใช้งานมาต่อกัน (สร้างทำไมหว่า?? 🤔)

โดยเขาต้องการให้ผู้ใช้งานโปรแกรม ป้อนเป็นข้อความเข้ามาสองค่า ค่าแรกเป็นชื่อของผู้ใช้งาน ค่าที่สองเป็นนามสกุล

ซึ่งถ้าโจอี้ ไม่สื่อสารอะไรกับผู้ใช้งานโปรแกรมเลย ผู้ใช้ก็ไม่สามารถเข้าใจความต้องการของโปรแกรมได้ ว่าต้องการให้เขาใช้งานอย่างไร ผู้ใช้อาจจะป้อนชื่อแมวเข้ามาก็ได้

ดังนั้นโจอี้ จึงเขียนโปรแกรม โดยข้อความผ่านคำสั่ง input() ดังนี้

print("This program will help you combine your first and last name together")

x = input("Please enter your first name :> ")
y = input("Please enter your last name :> ")

print("Your name is",x,y)

อธิบาย Source Code

บรรทัดที่ 1 : ใช้คำสั่ง print() พิมพ์ข้อความบอกผู้ใช้งาน ว่า นี่คือโปรแกรมช่วยคุณเอาชื่อและนามสกุลมาต่อกันให้ เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าใจจุดประสงค์ของโปรแกรม

บรรทัดที่ 3 : ใช้คำสั่ง input() บอกกับผู้ใช้งานว่า กรุณาป้อนชื่อจริง จากนั้นนำข้อมูลเข้าไปเก็บไว้ที่ตัวแปร x

บรรทัดที่ 4 : ใช้คำสั่ง input() บอกกับผู้ใช้งานว่า กรุณาป้อนนามสกุล จากนั้นนำข้อมูลเข้าไปเก็บไว้ที่ตัวแปร y

บรรทัดที่ 6 : ใช้คำสั่ง print() พิมพ์ข้อความว่า ชื่อของคุณคือ ตามด้วยผลบวกของตัวแปร x และ y

เพียงเท่านี้โปรแกรมก็จะสามารถทำงานได้ตามที่โจอี้คาดหวังไว้ ดังนั้น ในการเขียนโปรแกรม จงอย่าลืมที่จะสื่อสารกับผู้ใช้โปรแกรม

*ตรงส่วนของ :> ที่อยู่ในข้อความที่สื่อสารกับผู้ใช้นั้น เติมเข้ามาเพื่อให้ตอนที่ผู้ใช้งานป้อนข้อมูล ข้อมูลที่ป้อนจะไม่ติดกับข้อความของโปรแกรม เป็นการเพิ่มความสวยงามให้โปรแกรม ซึ่งในจุดนี้สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น >> , :: , >: แล้วแต่ผู้พัฒนาโปรแกรมจะดีไซน์

การทดลองประจำบทเรียนที่ 9

1.ทดลองนำ โปรแกรมของโจอี้ ในตัวอย่าง ไปรันในคอมไพเลอร์ และทดลองป้อนข้อมูลดู

2. ทดลองเปลี่ยนข้อความในคำสั่ง Input() และสังเกตผลลัพธ์

3. ทดลองปรับโปรแกรมของโจอี้ ให้มีการป้อนข้อมูล ชื่อกลาง และแสดงผล ในรูปแบบ Your name is ชื่อจริง ชื่อกลาง นามสกุล

*ชื่อกลาง ในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า middle name

– – – จบบทเรียนที่ 9 – – –


แบบฝึกหัดประจำบทเรียนที่ 9